(แฟ้มภาพซินหัว : เว็บไซต์ชอปปิงออนไลน์ของแอมะซอนในเมืองอาร์ลิงตันของสหรัฐฯ วันที่ 26 ก.ย. 2023)
ลอสแอนเจลิส, 29 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (28 เม.ย.) แอมะซอน (Amazon) ได้ส่งดาวเทียมชุดแรกสำหรับโปรเจ็กต์ ไคเปอร์ (Project Kuiper) สู่อวกาศด้วยจรวดแอตลาส วี (Atlas V) ของยูไนเต็ด ลอนช์ อลิอันซ์ (ULA) จากสถานีกองกำลังอวกาศเคปคานาเวอรัลในรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ ตอน 19.01 น. ตามเวลาท้องถิ่น
รายงานระบุว่าสถานีกองกำลังอวกาศฯ ยืนยันจรวดแยกตัวสำเร็จหลังจากผ่านไปไม่กี่นาที ซึ่งการบินขั้นแรกเสร็จสมบูรณ์ หลังจากดับเครื่องยนต์เสริม และตัวจรวดหลักแยกออกจากกัน โดยภารกิจนี้มีชื่อว่า "เคเอ-01" (KA-01) ได้นำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรต่ำของโลก ณ ความสูง 450 กิโลเมตร จำนวน 27 ดวง
เดิมทีมีกำหนดปล่อยดาวเทียมเมื่อวันที่ 9 เม.ย. แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย โดยภารกิจนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นแผนการของแอมะซอนในการนำกลุ่มดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรต่ำของโลกกว่า 3,000 ดวง เพื่อส่งเสริมการบริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและความหน่วงต่ำแก่ลูกค้าและชุมชนทั่วโลก
ราจีฟ บาดยาล รองประธานโปรเจ็กต์ ไคเปอร์ กล่าวว่ามีการออกแบบดาวเทียมสื่อสารขั้นสูงที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา และการส่งดาวเทียมสู่อวกาศทุกครั้งถือเป็นโอกาสเพิ่มสมรรถนะและความครอบคลุมให้เครือข่ายของแอมะซอน
อุปกรณ์บรรทุกดาวเทียมของภารกิจเคเอ-01 มีน้ำหนักมากที่สุดเท่าที่จรวดแอตลาส วีของสถานีกองกำลังอวกาศฯ เคยส่งขึ้นไป สถานีจึงเลือกใช้การปรับแต่งจรวดให้ทรงพลังที่สุดเพื่อรองรับน้ำหนักดังกล่าว
แอมะซอนและทีมยูไนเต็ด ลอนช์ อลิอันซ์ จะปล่อยจรวดแอตลาส วี อีก 7 ครั้ง และปล่อยจรวดวอลแคน เซ็นเตอร์ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอีก 38 ครั้ง เพื่อสร้างกลุ่มดาวเทียมหลักของโปรเจ็กต์ ไคเปอร์
นอกจากนั้นแอมะซอนยังได้ทำสัญญาการปล่อยจรวดมากกว่า 30 ครั้งกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ เช่น เอเรียนสเปซ (Arianespace) บลูออริจิน (Blue Origin) และสเปซเอ็กซ์ (SpaceX)
อนึ่ง แอมะซอนประกาศเปิดตัวโปรเจ็กต์ ไคเปอร์ ครั้งแรกในปี 2019 และส่งดาวเทียมต้นแบบสู่อวกาศ 2 ดวงในเดือนตุลาคม 2023 เพื่อทดสอบและปรับปรุงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในราคาประหยัด
สื่อของสหรัฐฯ รายงานว่าโปรเจ็กต์ ไคเปอร์ ของแอมะซอนจะเป็นคู่แข่งโดยตรงกับบริการสตาร์ลิงก์ (Starlink) ของสเปซเอ็กซ์ ซึ่งปัจจุบันเชื่อมต่อผู้ใช้งานมากกว่า 4 ล้านรายด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก